วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันเรื่อง โครงสร้างมาตรฐานของสุนัขชิบะกันนะคะ โดยจะทำเป็นรูปภาพเพื่อง่ายต่อการเข้าใจนะคะ
ซึ่งโครงสร้างที่ผิดปรกติอาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยโรคที่พบบ่อยมีดังนี้
กระดูกสันหลัง
โรคความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (Spinal Cord Disorders) (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) อาจจะพบจากความผิดปรกติตั้งแต่กำเนิด การเพิ่มน้ำหนักให้ลูกสุนัขมากเกินไปเพราะกระดูกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่อาจจะทำให้กระดูกผิดรูปได้ อาจจะดูอ้วนท้วนน่ารักแต่จะส่งผลเสียร้ายแรงในอนาคต หรืออาจพบในสุนัขโตแล้วที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป โดยโรคนี้นอกจากจะส่งผลต่อรูปทรงของแนวสันหลังสุนัขแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการทำงานของขา การเคลื่อนไหว และการทรงตัวด้วย โดยอาจจะเป็นการเจริญของกระดูกสันหลังที่ผิดลักษณะ อาจจะมีรูปทรงผิดไป หรือมีขนาดผิดไป ส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังผิดปกติตามมา เราอาจเห็นแนวกระดูกสันหลังบิดเบี้ยว (บิดงอ) ออกด้านข้าง กระดูกสันหลังโค้งแอ่นลงล่าง หรือกระดูกสันหลังโค้งโก่งขึ้น ซึ่งการเจริญของกระดูกสันหลังที่ผิดลักษณะนี้ มักพบบ่อยในสุนัขที่มีหางบิดม้วนเป็นเกลียว (crew-tailed dog breeds) เช่น Pugs, Bulldogs และ Boston Terriers ซึ่งหางของสุนัขชิบะบางตัวมีหางคล้ายๆ ลักษณะดังกล่าวค่ะ
ขาและสะโพก
โรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัข (Hip dysplasia) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) ซึ่งโรคนี้สังเกตจากการดูท่าเดินหรือวิ่งของสุนัข ซึ่งเวลาที่สุนัขเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างยิ่ง โดยสาเหตุสามารถเกิดได้จากโรคติดต่อทางพันธุกรรม หรือเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น ความอ้วน, การให้อาหารมากจนทำให้โตเร็วเกินไป, การเสริมแคลเซี่ยมมากเกินไป, ความบาดเจ็บในระหว่างช่วงที่เจริญเติบโต, การเลี้ยงที่พื้นลื่น ทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น
วิธีสังเกตอย่างง่าย
- ขาหลังเดินท่าแปลกไปจากเดิม
- ไม่ค่อยอยากลุกขึ้น หรือเวลาเปลี่ยนอิริยาบทจากท่านอนเป็นท่ายืน อาจจะร้องเจ็บ หรือ ไม่ค่อยอยากวิ่ง
- บางครั้งอาจเจ็บมากและใช้ขาหลังลดลง จนเริ่มเห็นว่ากล้ามเนื้อขาหลังฝ่อลีบเล็กลง
โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข (Canine Patellar Luxation) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ และที่นี่ และที่นี่หรือที่นี่) เป็นความผิดปกติของข้อเข่า (stifle joint) การเคลื่อนของสะบ้าในสุนัข ส่วนใหญ่เป็นแต่กำเนิดหรือจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการกระทบ-กระแทก มักพบการเคลื่อนเข้าด้านใน (medial) มากกว่าเคลื่อนออกด้านข้าง (lateral) สุนัขอาจแสดงอาการเจ็บบริเวณข้อเข่า เดินผิดปกติ หรือ พบความผิดปกติของรูปร่างของขาที่มีสะบ้าเคลื่อน จนบางครั้งสุนัขไม่สามารถใช้ขารับน้ำหนักได้ สุนัขที่มีสะบ้าเคลื่อนเป็นเวลานานมักพบการฉีกขาดของ เอ็นที่หัวเข่าร่วมด้วย ทำให้เกิดเจ็บปวดมากขึ้นและเกิดโรคข้อเสื่อม (degenerative joint disease) ตามมา
วิธีสังเกตอย่างง่าย
- ปกติจะพบในสุนัขอายุน้อยประมาณ 3-6 เดือน
- ลักษณะขาโก่งขึ้น
- แสดงอาการเจ็บขาและไม่ใช้ขารับน้ำหนัก
เนื่องจากอาการสุนัขอาจยังสามารถเดินได้เป็นปกติและไม่แสดงอาการเจ็บ จะมีเพียงบางจังหวะที่เดินขาโก่งหรือ ยกขา จึงต้องพาไปให้สัตวแพทย์ทำการตรวจคลำอาจต้องทำการถ่าย x-ray เพื่อดูปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย
ติดตามต่อกันคราวหน้านะคะ ขอบคุณที่ติดตามค่า
ข้อมูลนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาลักษณะสายพันธุ์ โดยห้ามนำไปคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข หรือกระทำการใดๆก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรนะคะ ถ้าต้องการเผยแพร่ข้อมูลรบกวนแชร์บทความแทนเพื่อเป็นกำลังใจให้ด้วยนะค๊า ^_^
ติดตามเราได้ที่ FACEBOOK : SHIBAINU DARUMA KENSHA
INSTAGRAM : DARUMA HOME
ขอบคุณข้อมูลจาก
- หนังสือ日本犬
- http://www.sanook.com/
- http://www.vpathai.org/
- http://yorkiegang.invisionzone.com/
- http://www.peteducation.com/
- http://www.vs.mahidol.ac.th/
- http://www.dogilike.com/